Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
ถ้าจะเปรียบเทียบอะไร ต้องให้เวลาและให้โอกาสหรือจำนวนครั้งมากเพียงพอครับ จึงจะตัดสินได้อย่างไม่เบี่ยงเบน เพราะมนุษย์เรามีความเคยชินมาเป็นตัวแปรในการเปรียบเทียบความรู้สึก ลองตรวจสอบดูใหม่นะครับ ว่าเอาหลังพิงพนักจนสนิทแล้วเหยียดแขนข้างใด ข้างหนึ่ง ไปวางบนส่วนบนสุดของพวงมาลัยแล้ว ตรงกับข้อมือหรือเปล่า ถ้าสัมผัสส่วนผ่ามือ หรือโคนนิ้ว หรือแบบที่อันตรายมาก คือปลายนิ้ว แสดงว่าลำตัวอยู่ห่างพวงมาลัยเกินระยะปลอดภัยแล้ว หรือลองเหยียบแป้นคลัทช์จนจม แล้วต้องเหยียดข้อเท้าสุดแบบนักบัลเลต์หรือเปล่า ? ส่วนใต้ของขาอ่อนดันกับเบาะนั่งส่วนหน้า จนรู้สึกว่าน้ำหนักตัวที่ลงตรงสะโพกลดลงหรือเปล่า ? หรือ สะโพกไถลมาด้านหน้า จนไม่สัมผัสกับพนักพิงหรือไม่ ? ถ้าใช่ แสดงว่า เรานั่ง “ไกล” เกินไปแล้วครับ แน่นอนว่า ถึงจะไม่เปลี่ยนท่าให้ถูกต้อง เราก็ยังขับได้ไม่เดือดร้อน เพราะมีการปรับตัวชดเชยสิ่งที่ผิดมาแรมปี แต่เมื่อใดที่รถเสียหลัก แล้วมีแรงเฉื่อยมาทำให้ลำตัวของเรา อัดกับพนักพิงอย่างแรง หรือเหวี่ยงให้ลำตัวเอนไปด้านข้าง ซึ่งแรงเหล่านี้มากเกินกว่าที่กล้ามเนื้อของเราจะสู้ได้นะครับ แล้วเราจะคว้าวงพวงมาลัยถึงได้อย่างไร ?
ถ้าเป็นการเล่นกีฬาผาดโผนหรือการทดลอง ที่มีแต่ร่างกายและชีวิตของผู้กระทำ เกี่ยวข้องแต่เพียงผู้เดียว ผมไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่การขับรถผิดพลาด มันมีชีวิตของผู้ “บริสุทธิ์” อื่นเป็นเดิมพันด้วย ทั้งผู้ที่โดยสารรถของเรา หรือผู้ขับ ผู้และโดยสารรถอื่น คนเดินถนน ที่ถูกรถของเราชน เพราะไม่สามารถคว้าพวงมาลัยบังคับทิศทางได้ยามฉุกเฉิน มันก็ไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการเมาเหล้าขับรถ ที่กำลังรณรงค์ต่อต้านกันอยู่ตอนนี้เลยนะครับ