Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
4 ตอนที่แล้ว นิตโตะซัง ได้แนะนำขั้นตอนการปรับท่านั่งและระยะต่างๆ ไปแล้ว ถ้ารถของเราให้โอกาสปรับทั้งเก้าอี้และพวงมาลัย ได้ครบทุกจุด เราก็จะได้ท่านั่งที่สบาย ถูกหลักสรีระศาสตร์ ขับได้ค่อนข้างนานโดยไม่ปวดหรือเมื่อย ถึงจะปรับระยะต่างๆ ได้ครบแล้ว ก็ยังมีอยู่ระยะหนึ่งครับ ที่ต้องอาศัยโชคช่วยหน่อย นั่นคือระยะระหว่างพนักพิงกับด้ามเกียร์ ถ้าโชคดีได้ระยะถูกต้อง เราก็จะเหยียดแขนไปพอประมาณแล้วเอามือกุมด้ามเกียร์ได้พอ และเมื่อผลักด้ามเกียร์เข้าเกียร์หนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไกลตัวเราที่สุดแล้ว แขนจะเกือบตึงหรือตึงพอดี โดยที่เราไม่ต้องขยับลำตัวจากพนักพิง
เหตุที่ต้องอาศัยโชคช่วยด้วย เพราะด้ามเกียร์ของเราอยู่ในตำแหน่งตายตัว และเราจำเป็นต้องปรับเก้าอี้โดยเริ่มจากตำแหน่งตายตัวอีกจุด นั่นคือตำแหน่งของแป้นเบรก แป้นคลัทช์ และคันเร่ง เพราะฉะนั้น ระยะระหว่างพนักพิงกับด้ามเกียร์ จึงขึ้นอยู่กับระยะระหว่างพนักพิงกับแป้นเหยียบเหล่านี้ และมุมของพนักพิง ที่เราได้เลือกให้เหมาะกับสัดส่วนร่างกายของเราแล้ว ระยะนี้จึงเป็น “จุดอ่อน” สุดท้ายของบรรดารถหรูหราราคาสูง ที่ต้องการให้ที่นั่งขับของผู้ขับสบายอย่างสมบูรณ์แบบ แฟนเพจที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนที่แล้ว และติดตามมาตลอด คงจะนึกออกนะครับว่าต้องแก้ไขที่จุดไหน
มีอยู่ 3 วิธีด้วยกันครับ คือ ย้ายคันเกียร์ไปไว้ที่แกนพวงมาลัยเหมือนรถยุคหกสิบถึงสี่สิบปีที่แล้ว แต่ต้องเป็นคันเกียร์ของเกียร์อัตโนมัติ แบบที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า ส่วนวิธีที่สอง ยังคงให้คันเกียร์อยู่ตรงกลางระหว่างเก้าอี้คู่หน้าตามปกติ แล้วออกแบบให้คันเกียร์อยู่บนแป้นที่ปรับเลื่อนได้ในด้านหน้า-หลัง ซึ่งก็สามารถทำได้เฉพาะรถที่ใช้ไฟฟ้าควบคุมเกียร์อัตโนมัติล้วนๆ ไม่ต้องอาศัยกลไกใดๆ เลย ระหว่างคันเกียร์กับห้องเกียร์ ระบบนี้มีใช้กับรถหรูหราราคาสูงมากเท่านั้น
วิธีแรกมีรถบางรุ่นใช้อยู่ครับ เป็นรถหรูหราราคาสูงมาก วิธีที่สองผมยังไม่เห็นใครทำ ส่วนวิธีที่สามเป็นวิธีที่ “ติดดิน” หน่อย ใช้กับรถเกียร์ “ธรรมดา” ได้ด้วย โดยออกแบบชุดแป้นเหยียบทั้งสองหรือทั้งสาม ให้มีระยะปรับหน้า-หลัง ใกล้หรือไกลจากเก้าอี้คนขับได้ วิธีปรับท่านั่งก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เริ่มต้นที่ชุดแป้นเหยียบตายตัว เราก็เปลี่ยนมาเริ่มที่ตำแหน่งของด้ามเกียร์ โดยปรับมุมเอนของพนักพิงให้ถูกต้องนั่งสบายตั้งแต่ต้น แล้วเลื่อนเก้าอี้ทั้งตัว จนกระทั่งระยะระหว่างพนักพิงกับด้ามเกียร์เหมาะกับตัวเรา จากนั้นจึงปรับชุดแป้นเหยียบให้ห่างพอเหมาะกับความยาวของขาผู้ขับ ใครที่พอเข้าใจกลไกของชุดแป้นเหยียบ คงจะพอนึกภาพออกว่า ถ้าทำจริงๆ ก็ยากเอาการและแพงด้วย รถที่มีชุดแป้นเหยียบแบบปรับได้นี้ จึงเป็นรถหรูหราราคาแพงทั้งนั้น เท่าที่ผมนึกออก คือ แจกวาร์ เอกซ์เจ รุ่นใหม่ และ มาเซราตี บางรุ่น ที่มีระบบนี้อยู่ ก็เลยอย่างว่า ส่วนใหญ่พวกเราที่บ้านทั่วไปก็คงต้องอาศัยโชคช่วยนั่นแหละครับ