Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
ท่านั่งขับรถที่ค่อนข้างถูกต้องหรือผิดน้อยนั้น แค่มองสักหนึ่งถึงสองวินาทีก็ตัดสินได้แล้วครับ คือขาท่อนบนกับท่อนล่างทำมุมกันมากกว่าหนึ่งมุมฉากเล็กน้อย ลำตัวเอนไปด้านหลังเล็กน้อย และลำตัวอยู่ไม่ห่างจากพวงมาลัยเกินไป เมื่อจับพวงมาลัยขณะขับทางตรง โดยมือซ้ายจับที่เลขเก้าหรือสิบ มือขวาจับที่เลขสามหรือสองแล้ว (เมื่อเปรียบเทียบวงพวงมาลัยกับหน้าปัดนาฬิกา) แขนยังไม่เหยียดสุด นี่คือภาพคร่าวๆ นะครับ ไม่ใช่ท่าที่ถูกต้องที่สุด
เริ่มต้นที่เบาะรองนั่ง ถ้าปรับได้ ให้เน้นระดับสูงไว้ก่อนครับ มากน้อยแค่ไหนต้องรอตอนปรับพนักพิง ถ้าเบาะรองนั่งปรับความสูงไม่ได้ ก็ปรับระยะเพียงอย่างเดียว ระยะที่ถูกต้อง คือระยะที่เหยียบแป้นคลัทช์จนยันพื้นแล้ว ขาซ้ายของเราเหยียดเกือบสุด แต่ก็ต้องดูด้วยว่าขาขวาของเราเหยียบคันเร่งเป็นเวลานานได้สบายหรือไม่ แล้วยกเท้าจากคันเร่งมาเหยียบแป้นเบรกได้ถนัดและ “ได้แรง” หรือเปล่า ถ้าเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ ก็เน้นเฉพาะขาขวาอย่างที่ว่านี่แหละครับ หากเป็นรถราคาสูงหน่อยเราสามารถกระดกเบาะรองนั่งได้อีก คือเลือกให้ส่วนหน้าเชิดขึ้นได้ด้วย เน้นความสะดวกสบายเป็นหลักครับ คือให้ส่วนหน้าเชิดขึ้นเล็กน้อย ถ้าไม่แน่ใจ เพราะไม่มีตำแหน่งมาตรฐาน มองดูของรถอื่นรุ่นที่กระดกเบาะนั่งไม่ได้เป็นตัวอย่างก็ได้
ข้อสำคัญคืออย่าให้ส่วนหน้าสูงเกินไป เพราะจะทำให้ต้องเอนพนักพิงมากตาม ถ้าส่วนหน้าสูงเกิน จะค้ำทำให้เหยียบแป้นได้ไม่ถนัด แล้วแรงกดใต้ขาพับจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ลำบากด้วย ถ้าเป็นรถราคาค่อนข้างสูง (อีกแล้ว) จะมีที่ปรับความยาวของเบาะรองนั่งด้วย อย่าปรับให้ยื่นมาจนใกล้ขาพับนะครับ ควรมีความห่างระหว่างขอบเบาะรองนั่งจนถึงขาพับ ขนาดที่เอานิ้วมือสามนิ้วสอดได้
ขั้นต่อไปคือพนักพิง ถ้าเบาะรองนั่งถูกต้อง คือไม่เชิดหน้าเกินไป พนักพิงที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ก็จะเอนไปด้านหลังไม่มาก พอเรานั่งสะโพกยันพนักพิงสนิทดีแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก มองจากด้านข้างจะเห็นท่อนขาส่วนบน ทำมุมกับลำตัวประมาณเก้าสิบองศาหรือหนึ่งมุมฉาก พอรู้สึกว่านั่งสบาย ให้ความรู้สึกว่านั่งในท่านี้นานๆ ก็คงไม่เมื่อยแล้ว
ปรับเบาะกันเสร็จแล้ว มาจับพวงมาลัยกันต่อตอนหน้าครับ