
หลายท่านขับรถมาหลายสิบปี แต่ก็ยังทำอะไรผิดๆ จนติดเป็นนิสัยจนกลายเป็น “ขับรถได้” นิตโตะซังขอแนะนำให้ทุกท่านมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คุณกลายเป็น “ขับรถเป็น” กันดีกว่าครับ ! จะมือใหม่หรือมือเก่า หากอยากเรียนรู้อยากปรับปรุงวิธีขับรถที่ไม่ถูกต้อง นับเป็นเรื่องที่ทำได้เสมอ ไม่ว่าจะเคยขับรถมา 2 วัน หรือ 30 ปี ก็ตาม มาเริ่มกันเลย !!
นั่งชิดพวงมาลัย ชะโงกมองหน้ารถ
ปรับเบาะนั่งจนชิดพนักพิงตั้งชัน นั่งใกล้พวงมาลัยมาก กลัวจับพวงมาลัยไม่ถนัด และกลัวมองไม่เห็นปลายฝากระโปรงหน้า ขาดความมั่นใจถ้าไม่ได้มองหรือนั่งห่างพวงมาลัย
ผลเสีย : หมุนพวงมาลัยได้ไม่คล่อง ขาดความฉับไวในการบังคับทิศทาง เพราะข้อศอกอยู่ชิดลำตัวเกินไป และแขนงอ อยู่มาก ถ้าเกิดอุบัติเหตุ หากพวงมาลัยมีถุงลมนิรภัยจะเจ็บหนัก เพราะปะทะกับถุงลมฯ ในจังหวะที่แค่เริ่มพองตัว ยังไม่พองตัวเกือบเต็มที่ หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็มีโอกาสสูงที่จะกระแทกกับพวงมาลัยแล้วบาดเจ็บหรือตาย แม้คาดเข็มขัดนิรภัย หากเป็นแบบพื้นฐานไม่ใช่ไฮเทคแบบรั้งกลับอัตโนมัติ ก็อาจจะล็อกร่างกายได้ช้า จนกระแทกกับพวงมาลัยไปก่อน
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง : ปรับระยะห่างของเบาะนั่งและมุมเอนของพนักพิงให้ถูกต้อง ไม่ชิดไม่ห่างไม่เอนไม่ตั้งชันเกินไป การปรับเบาะนั่ง ให้ทดลองเหยียบเบรกด้วยฝ่าเท้า(ไม่ใช่ปลายเท้า)ให้สุด แล้วขาต้องงออยู่เล็กน้อย เพราะถ้าเหยียบสุดแล้วขาตึง เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเหยียบเบรกอยู่ แรงกระแทกจะถ่ายทอดจากแป้นเบรกสู่สะโพกได้มาก แต่ถ้าเบรกสุดแล้วขายังงอ แรงกระแทกจะทำให้เข่างอขึ้นไป แรงกระแทกจะถูกส่งสู่สะโพกน้อยกว่า
พนักพิงเอนมาด้านหลังเล็กน้อย มีมุมเอียงประมาณ 100 องศา ตรวจสอบความเหมาะสมของตำแหน่งได้ง่ายๆ โดยนั่งพิงพนักแล้วยื่นแขนตึงคว่ำมือไปวางเหนือพวงมาลัย วงพวงมาลัยต้องอยู่บริเวณข้อมือ ถ้าลองกำวงพวงมาลัยด้านบนสุด แขนยังต้องงออยู่เล็กน้อย ตำแหน่งการนั่งตามที่แนะนำนี้ จะทำให้การหมุนพวงมาลัยเป็นไปอย่างคล่องตัวและฉับไว ข้อศอกไม่ชิดลำตัว และแขนไม่เหยียดจนเกินไป