Date: February 25, 2016
Author: Grip Thailand
นิตโตะซัง เปิดรายการรถยนต์ทางทีวีช่องหนึ่งเจอ “กูรู” ในรายการบอกว่า ถ้าเป็นรถใช้เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี ให้ขับที่ความเร็ว 90 กม./ชม. ถ้าขนาด 2,000 ซีซี ก็ต้องเป็น 110 กม./ชม. กำหนดตายตัวมากๆ จากประสบการณ์และการศึกษา นิตโตะซัง ขอบอกว่ามันก็แค่ “พอได้” เท่านั้นแหละครับ
อันที่จริงความเร็วที่รถประหยัดน้ำมันได้ดีที่สุดเป็นค่าความเร็วคงที่ในเกียร์สูงสุด หรือเกียร์สุดท้ายของรถ ถ้าใช้เกียร์อัตโนมัติก็ในเกียร์จังหวะสุดท้าย และถ้ามีระบบล็อคอัพ (Lock- Up) คลัทช์ ซึ่งต่อตรงโดยไม่ผ่านทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ก็ต้องไปให้ถึงความเร็วที่ระบบนี้ทำงานเรียบร้อยก่อน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 60-70 กม./ชม.
รถเกียร์อัตโนมัติหลายรุ่นด้วยกัน โดยเฉพาะรถญี่ปุ่น เกียร์จังหวะที่สี่หรือห้า จะเป็นระบบล็อคอัพในตัวเลย ถ้าเข้าก็แปลว่า “ต่อตรง” ทันที ระบบแบบนี้จะมีปุ่มปลดเกียร์สุดท้ายให้ผู้ขับเลือก โดยมีคำว่า Overdrive Off กำกับไว้ กดเข้าเมื่อไหร่ระบบควบคุมจะเลือกเกียร์จังหวะสูงสุดแค่รองสุดท้ายเท่านั้น ใช้ตอนที่ต้องเร่งแซงบ่อยๆ เพราะอัตราทดเกียร์สุดท้ายต่ำมาก เนื่องจากเน้นประหยัดเชื้อเพลิงและระบบควบคุมก็ไม่ละเอียดถูกใจเรา พอที่จะเปลี่ยนไปเกียร์ต่ำถัดไป แม้จะเหยียบคันเร่งค่อนข้างลึกแล้ว กดปุ่มนี้แล้วมันจะเปลี่ยนเกียร์ทันทีครับ พอแซงพ้นแล้วค่อยปลดกลับตามเดิม
มาที่รถเกียร์ธรรมดา เพื่อให้เข้าใจเรื่องความเร็วประหยัดน้ำมันที่สุดได้ง่ายกว่าครับ โดยทั่วไปจะ อยู่ที่ประมาณ 50-60 กม./ชม. ตั้งแต่ความเร็วประมาณ 40 กม./ชม. ขึ้นไป กำลังของเครื่องยนต์ส่วน ใหญ่จะใช้ไปกับการดันตัวรถให้แหวกและไล่อากาศหน้ารถ นอกเหนือไปจากส่วนที่ใช้ไปกับแรงเสียดทานในการกลิ้งของล้อและยาง กับแรงเสียดทานของระบบขับเคลื่อน ถ้าอยากเข้าใจว่าทำไมส่วนที่ใช้สู้กับแรงต้านอากาศมันถึงมากมายนักลองเปิดกระจกตอนรถแล่นด้วยความเร็วแค่ 100 กม./ชม. แล้วยื่นฝ่ามือออกไปขวางดูก็ได้ครับ แรงต้านนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตรายกกำลัง 2 ของค่าความเร็ว เช่นแรงต้านอากาศที่ความเร็ว 160 กม./ชม. จะมีค่า 4 เท่า ของที่ความเร็ว 80 กม./ชม. นี่คือสาเหตุที่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจว่าทำไมยิ่งขับเร็วยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น เมื่อเทียบกับระยะทางที่ ได้ ทั้งๆ ที่ใช้เวลาขับน้อยลงครับ